เทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือก

เทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบมือใหม่

ภาพถ่าย Landscape สวย ๆ อลังการ โดยมีฉากหลังเป็นทางช้างเผือกสำหรับผมมันน่าตื่นเต้นอลังการจนต้องออกเดินทางเพื่อไปสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง

หลายครั้งที่ภาพเพียงภาพเดียว ทำให้ผมถึงกับมีแรงบันดาลใจที่จะออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางดังกล่าว

เข้าเรื่องครับ … เทคนิคการถ่ายทางช้างเผือกแบบเจาะลึก ให้เข้าใจถึงหลักการเพื่อนำไปต่อยอดได้เองอีกในอนาคตนะครับ ผมขอแยกเป็นหัวข้อ ๆ เพื่อจะได้สะดวกในการศึกษาหาข้อมูล และทำความเข้าใจในแต่ละแง่มุมนะครับ

  1. ถ่ายอย่างไงให้ติดติดทางช้างเผือก ?
    1. สถานที่เหมาะสม สถานที่ควรจะเป็นสถานที่ฟ้ามืด ไม่มีแสงเมืองมารบกวน สมมติว่าเราไปเที่ยว หัวหิน พัทยา หรือ พวกในตัวเมืองที่มีแสงเมืองเยอะ ๆ แบบนี้เลิกคิดเรื่องทางช้างเผือกได้เลยครับ ไม่มีทางถ่ายได้แน่นอน เขาเรียกว่ามลภาวะทางแสงไม่เอื้ออำนวยครับ
    2. วันและเวลาที่เหมาะสม เราควรจะต้องเช็คก่อนว่าวันนั้นฟ้าเปิดหรือไม่ มีเมฆเยอะหรือป่าว มีแสงจันทร์กวนมั้ย ช่วงเดือนนั้นช้างขึ้นและตกเวลาใด จริง ๆ ข้อมูลพวกนี้ เราสามารถหาได้ใน Internet นะครับ จะมีคนทำตารางออกมาเต็มเลย แต่…สมมติว่าในตารางบอกว่าวันนี้ถ่ายได้ ช้างขึ้นกี่โมงถึงกี่โมง แต่…บังเอิญว่าวันนั้นฟ้าปิด มีเมฆมาก อันนี้จบเลยครับ
  2. อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมสำหรับการถ่ายทางช้างเผือก
    • สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ กล้อง ผ่าม !!!
    • เลนส์ ถ้าเอาแบบ เบสิคเลย ผมแนะนำ เลนส์ที่มี F กว้าง ๆ เช่น 50 1.8 / 14-24 f2.8 , 16-35 f.28 เป็นต้น
    • ขาตั้งกล้อง แนะนำ เอาแบบตั้งได้มั่นคงหน่อยนะครับ เพราะว่าเราต้องเปิด Shutter ไว้นาน ถ้าหากว่าขาตั้งเล็กไป ภาพจะสั่นไหวได้ง่ายครับ
    • แบตเตอรี่กล้อง อันนี้ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เตรียมสำรองไว้ด้วยนะครับ เพราะเวลาเราถ่ายดาว เราต้องลาก Speed shutter นาน ๆ บางทีแบตหมดแบบไม่รู้ตัว เสียดายแย่
    • เมมโมรี่ อันนี้เช่นกันคับ อย่าลืมพกกันไปด้วยนะครับ ไม่งั้นจะได้แค่นั่งดูดาว !!!
    • ยากันยุง อันนี้เหมือนไม่สำคัญ แต่โคตรสำคัญเลยครับบางที่ยุงอย่างเยอะ !!!
    • เสื้อกันหนาว สำหรับบางสถานที่เราควรตรวจสอบสภาพอากาศให้ดีนะครับ ไปยืนถ่ายหนาวๆ นี่ไม่ดีแน่ ๆ ครับ
    • อาหาร ของว่าง น้ำดื่ม ต้องเตรียมให้พร้อมครับ เพราะบางทีเราต้องรอกว่าฟ้าจะเปิดเราอาจจะหิวก่อนครับ !!!
    • Remote shutter จริง ๆ อันนี้ไม่มีก็ได้นะครับ แต่ถ้ามีก็ดีกว่าเยอะครับ เพราะบางครั้ง เราต้องถ่ายเพื่อเก็บฉากหน้า ซึ่งเราต้องการใช้ ISO ต่ำ ๆ เพื่อให้ภาพเนียนตาสวยงาม ซึ่งเราอาจจะต้องเปิด Speed shutter นานกว่า 30 วินาที ซึ่งกล้องบางรุ่นไม่สามารถตั้งเวลาได้นานกว่า 30 วินาทีครับ
    • ขาตั้งตามดาว – ไอเทมสำหรับคนจริง ๆ เรื่องการถ่ายดาว แบบเข้าขั้น Addict ส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าคุณยังเป็นแค่มือใหม่ ยังไม่ได้คลั่งไคล้ขนาดนั้น ผมมองว่าไอเทมนี้อาจจะข้ามไปก่อนก็ได้ครับ แต่ถ้าคุณอยากได้ ภาพทางช้างเผือกแบบข้ามขีดจำกัด ของกฏเรื่อง Speed shutter ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมอยากถ่าย ด้วยระยะ 100mm f2.8 บน Fullframe โดยปกติผมจะเปิด Speed shutter ได้แค่ 600/100 = 6 sec ถ้าเกินกว่านั้น ดาวจะยืด ซึ่งถ้าคิดว่าการถ่ายทางช้างเผือก ค่าความสว่างที่ถูกต้องควรจะเป็น ​EV = -7 ซึ่งถ้าจะให้ได้ค่านี้โดยที่ไม่สามารถเพิ่ม Speed shutter ได้ เราต้องใช้ ISO ถึง 16000 !!! แต่เราสามารถข้ามขีดจำกัดด้าน Speed shutter เพื่อไม่ให้ดาวยืดได้ ถ้ามีขาตามดาว เพราะเราสามารถเปิด Speed shutter ได้แบบ Unlimited !!! (ถ้าเราทำ Polar alignment ได้เป๊ะเวอร์นะครับ) ลองคิดดูถ้าผมสามารถถ่าย โดยเปิด SPeed shutter ที่ 4 นาที โดยใช้ iso แค่ 400 ภาพผมจะเนียนขนาดไหน !!!

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม การถ่ายภาพทางช้างเผือกทำไมต้อง F กว้าง ๆ คำตอบก็คือ เราต้องการแสงให้เข้ามาที่เซ็นเซอร์​ ในปริมาณที่มากพอที่จะเห็นช้างแบบชัดเจน ซึ่งถ้าหากว่า f เราสูง เช่น f4 ก็จะกลายเป็นว่าเราต้อง เร่ง ISO สูง ๆ และ เปิดชัตเตอร์นานขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียตามมาสองอย่างคือ Noise จะสูง และ ดาวจะยืด เพราะพอเราเปิดหน้ากล้องนาน ๆ ดาวมันไม่ได้อยู่นิ่ง มันก็จะค่อย ๆ ขยับจนยืดออกเป็นเส้น ๆ ทั้งนี้

M4/3 : 300 หารด้วยทางยาวโฟกัสเลนส์ = ระยะเวลาการถ่าย/Shutter Speed
Full Frame: 600 หารด้วยทางยาวโฟกัสเลนส์ = ระยะเวลาการถ่าย/Shutter Speed
APSC : 400 หารด้วยทางยาวโฟกัสเลนส์ = ระยะเวลาการถ่าย/Shutter Speed

สำหรับ โพสแรก จะขอเขียนแบบขั้นต้นไว้ก่อนนะครับ เด่วโพสต่อไปจะโพสแบบเจาะลึกขึ้นไปอีกขั้นครับผม จริง ๆ ถ้าอ่านโพสนี้จบ ผมเชื่อว่าใคร ๆ ก็สามารถถ่ายรูปทางช้างเผือกได้แล้วนะครับ ลองดูครับผม สงสัยตรงไหนโพสถามกันเข้ามาได้เลยครับผม